allaboutFin

วางแผนการเงินกับอาจารย์ปิง | วางแผนภาษี 2564 รายได้เท่าไหร่ถึงต้องเสียภาษี

โพสเมื่อ : 18 ธ.ค. 2564
แก้ไขเมื่อ : 18 ธ.ค. 2564
WRITER : Thai Professional Fianance Academy CFP®

เงินเดือนเท่าไร รายได้เท่าไร ถึงต้องเสียภาษี?
 
วางแผนการเงินกับอาจารย์ปิงวันนี้ เราจะมาหาคำตอบว่าบุคคลที่มีเงินเดือนเกินเท่าไร หรือมีรายได้เกินปีละเท่าไร ถึงต้องเสียภาษี
เพดานรายได้ที่เริ่มต้องเสียภาษีขั้นแรกอยู่ที่ 150,000 บาท เนื่องจากเงินได้สุทธิส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
อย่างไรก็ตามเงินได้สุทธินั้นเป็นเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และค่าบริจาค
ถ้าหากบวกค่าใช้จ่ายสำหรับบุคคลที่เป็นมนุษย์เงินเดือนมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 หรือ ฟรีแลนซ์ที่มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 อีก 100,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 60,000 บาท กลับเข้าไป ก็จะทำให้เพดานรายได้ที่เริ่มต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 310,000 บาทต่อปี
นอกจากนั้นถ้าหากบวกค่าลดหย่อนเงินสมทบกองทุนประกันสังคมอีก 9,000 บาทกลับเข้าไป ก็จะทำให้เพดานรายได้ที่เริ่มต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 319,000 บาท
ยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากบวกค่าลดหย่อนจากเบี้ยประกันสุขภาพและเบี้ยประกันชีวิตอีก 100,000 บาท และค่าลดหย่อนจากเงินสะสมกบข. กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการออม เบี้ยประกันแบบบำนาญ อีก 500,000 บาท เพดานรายได้ที่เริ่มต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 919,000 บาทต่อปีเลยทีเดียว
นั่นหมายความว่าถ้าหากเรารู้จักวางแผนการเงินและวางแผนภาษี รู้จักและเข้าใจค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อน และค่าบริจาคต่างๆก็จะยิ่งทำให้เราอาจเสียภาษีน้อยลงหรือไม่ต้องเสียภาษีเลยก็ได้และที่สำคัญก็คือถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย
 
ถ้าเรามาลงรายละเอียดที่มาของการคำนวณเงินเดือนหรือรายได้ที่เริ่มต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คงต้องเริ่มพิจารณาจากพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ.2551 กำหนดว่าเงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้นผู้ที่มีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาทจึงต้องเสียภาษีตามอัตราขั้นบันได
 
อย่างไรก็ตามการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะอ้างอิงจากเงินได้สุทธิไม่ใช่เงินได้พึงประเมินหรือไม่ใช่รายได้
ทั้งนี้การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามวิธีการทั่วๆไป หรือที่มักเรียกกันว่าวิธีที่ 1 จะคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้สุทธิตามสูตรต่อไปนี้
 
เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมินทุกประเภท - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน - ค่าบริจาค
 
ทั้งนี้เนื่องจากเงินบริจาคที่หักค่าลดหย่อนต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนต่างๆแล้ว การคำนวณหารายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีในที่นี้จึงไม่ได้นำเงินบริจาคมาร่วมคำนวณด้วย
 
อย่างไรก็ตามการจะตอบคำถามว่าผู้มีเงินได้ที่มีรายได้เท่าไรถึงต้องเสียภาษี จะต้องพิจารณาด้วยว่าเงินได้นั้นเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด เพราะจะส่งผลต่อการหักค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย
 
มนุษย์เงินเดือนซึ่งมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 จากการเป็นลูกจ้างของนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน และฟรีแลนซ์ซึ่งมีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 2 จากการรับจ้างทำของที่อาศัยแรงงานตนเองเป็นปัจจัยสำคัญ หรือจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ จะสามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 ของเงินได้แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท

ผลิตภัณฑ์อื่นๆ
  • วางแผนการเงินและปฎิบัติธรรมพร้อมๆกัน? รวยและสุข | ESG เทรนด์ใหม่การลงทุนอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องธรรมะ

    วางแผนการเงินและปฎิบัติธรรมพร้อมๆกัน? รวยและสุข | ESG เทรนด์ใหม่การลงทุนอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องธรรมะ

  • การรวบรวมข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล / หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 4

    การรวบรวมข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล / หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 4

  • เปิดประตูสู่วิชาชีพ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT และนักวางแผนการเงิน CFP

    เปิดประตูสู่วิชาชีพ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT และนักวางแผนการเงิน CFP