การรวบรวมข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล / หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 4
หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 4 การรวบรวมข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล
แก้ไขเมื่อ : 26 ก.พ. 2564
ความสำเร็จทางการเงินส่วนบุคคลนั้นต้องการการวางแผนล่วงหน้าเพื่อที่บุคคลนั้นๆ จะได้รับความมั่งคั่งตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยกระบวนการวางแผนทางการเงินจะเป็นกระบวนการที่ต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้รับคำปรึกษามาทำการวิเคราะห์สถานะทางการเงินในปัจจุบันของบุคคลนั้นๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายและแผนการปฏิบัติทางการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางการเงินที่ได้ตั้งไว้สำหรับแต่ละบุคคล
การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลจึงต้องเริ่มต้นจากการเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นส่วนบุคคล ซึ่งประกอบไปด้วยข้อมูลทั่วไปของผู้รับคำปรึกษาและผู้ที่อยู่ในอุปการะ ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตของผู้รับคำปรึกษาและครอบครัว ข้อมูลด้านการจัดการความเสี่ยงและการทำประกัน ข้อมูลด้านการลงทุน ข้อมูลด้านการออมเพื่อวัยเกษียณ รวมทั้งข้อมูลการวางแผนภาษี ทั้งนี้ข้อมูล ดังกล่าวอาจอยู่ทั้งในรูปแบบของข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ
ความสำเร็จของแผนทางการเงินดังกล่าวจะต้องอาศัยการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ผู้วางแผนทางการเงินจึงต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวเพื่อนำมาจัดเก็บให้เป็นระบบระเบียบในรูปแบบของงบทางการเงินเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลต่อไป
หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นส่วนบุคคลแล้ว ผู้วางแผนทางการเงินจะต้องนำข้อมูลเบื้องต้นส่วนบุคคลดังกล่าวมาทำการวิเคราะห์สถานะทางการเงินของบุคคล เพื่อจะทำให้การกำหนดเป้าหมายทางการเงินอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยการวิเคราะห์สถานะทางการเงินของบุคคลจะต้องอาศัยข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคลต่างๆ ซึ่งจะถูกบันทึกและนำเสนอให้เป็นระบบระเบียบในลักษณะของงบทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งได้แก่ งบดุลส่วนบุคคล (personal balance sheet) หรืองบแสดงความมั่งคั่งสุทธิส่วนบุคคล (personal statement of net worth) และงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล (personal statement of cash flow)
ข้อมูลของแต่ละบุคคลที่ได้รับจากการสำรวจทั้งในส่วนของสถานะทางการเงินของบุคคล ความสามารถในการหารายได้ และความจำเป็นในการใช้จ่าย จึงแสดงผ่านทางการจัดทำงบการเงินส่วนบุคคลดังกล่าวข้างต้น เพื่อจุดประสงค์ดังต่อไปนี้
- แสดงถึงสถานะทางการเงินของบุคคลนั้นๆ ว่ามี สินทรัพย์ หนี้สิน มากน้อยเพียงใด
- วัดความก้าวหน้าของเป้าหมายทางการเงินที่เรากำหนดไว้ว่า มีความก้าวหน้าไปถึงไหน โดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของงบการเงินในอดีตจนกระทั่งปัจจุบัน
- เก็บรวบรวมข้อมูลว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ละบุคคลมีกิจกรรมทางการเงินอะไรบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจต่างๆ ในอนาคตใช้เป็นข้อมูลในการคำนวณภาษี
ทั้งนี้ในการจัดทำงบทางการเงินส่วนบุคคลดังกล่าว จะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคลต่างๆ ที่จำเป็นดังต่อไปนี้
- ข้อมูลที่แสดงถึงฐานะทางการเงินส่วนตัว เช่น สินทรัพย์ (assets) ที่บุคคลเป็นเจ้าของ หนี้สิน (liabilities) ที่บุคคลมีภาระผูกพันต้องชำระคืน ความมั่งคั่งสุทธิ (net worth) ส่วนบุคคล โดยอาจพิจารณาจากข้อมูลด้านการลงทุน ข้อมูลเกี่ยวกับทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน รถยนต์ เป็นต้น และข้อมูลเกี่ยวกับบริการทางการเงินต่างๆ
- รายได้ (income) ซึ่งกำหนดจากการจ้างงานและผลตอบแทนจากการลงทุนต่างๆ รวมทั้งข้อมูลทางภาษี เพื่อพิจารณารายได้ที่แท้จริงที่บุคคลสามารถนำไปใช้จ่ายได้
- รายจ่าย (expenses) ซึ่งกำหนดจากวิถีชีวิตประจำวัน (lifestyle) ข้อมูลทางภาษี ข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการเดินทางและการพักอาศัย ข้อมูลด้านการประกันภัย ประกันชีวิตต่างๆ
- แผนเกี่ยวกับการเกษียณอายุจากการทำงาน
- เป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับ (risk tolerance)
อย่างไรก็ตามในการจัดทำงบทางการเงินส่วนบุคคลมักจะพบกับอุปสรรคที่สำคัญ 2 ประการ คือ
- ความยุ่งยากและใช้เวลาค่อนข้างมาก เนื่องจากการจัดทำงบทางการเงินส่วนบุคคลต้องอาศัยข้อมูลเบื้องต้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งบุคคลโดยทั่วไปมักไม่ค่อยเก็บบันทึกรายการทางบัญชีต่างๆ ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรายจ่าย ทั้งนี้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยเฉพาะรายจ่ายนั้น อาจจะพิจารณาจากใบเสร็จต่างๆ ที่เก็บไว้ เช่น ใบเสร็จค่าน้ำ ใบเสร็จค่าไฟ ใบเสร็จค่าโทรศัพท์ เป็นต้น หรืออาจจะพิจารณาจากต้นขั้วเช็คที่ใช้จ่ายในอดีต หรือพิจารณาจากการเคลื่อนไหวของกระแสเงินสดจ่ายออกจากบัญชีเงินฝากประเภทต่างๆ ในขณะที่การเก็บรวบรวมข้อมูลรายได้ อาจจะรวบรวมจากสลิปเงินเดือน การเคลื่อนไหวของกระแสเงินสดรับจากบัญชีเงินฝากประเภทต่างๆ ที่มีอยู่
- ความซับซ้อนในการกำหนดมูลค่าตลาดที่เหมาะสมของสินทรัพย์ เนื่องจากสินทรัพย์บางประเภทอาจไม่มีสภาพคล่อง หรืออาจจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการประเมินมูลค่า ทั้งนี้อาจจะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าตลาดที่เหมาะสมของสินทรัพย์จากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือบริษัทที่ปรึกษาประเมินมูลค่าสินทรัพย์ต่างๆ ได้
การวัดความสำเร็จในการดำเนินงานตามแผนทางการเงินส่วนบุคคลที่กำหนด จะต้องมีการสำรวจสถานะทางการเงินของบุคคล โดยทำการวิเคราะห์ความมั่งคั่งสุทธิของบุคคลจากระดับของสินทรัพย์และหนี้สินที่มีอยู่ของแต่ละบุคคล ทั้งนี้เครื่องมือทางการเงินที่ใช้แสดงสถานะทางการเงินของบุคคลจะเรียกว่า งบดุลส่วนบุคคล หรืองบแสดงความมั่งคั่งสุทธิส่วนบุคคล โดยงบดุลส่วนบุคคลจะพิจารณาความมั่งคั่งสุทธิของบุคคลที่เหลือในสินทรัพย์ที่บุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าของ หลังจากชำระภาระผูกพันทางการเงินทั้งหมด
งบดุลส่วนบุคคลเป็นรายการทางบัญชีที่แสดงถึงฐานะทางการเงินของบุคคลที่พิจารณา ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง โดยจะแสดงถึงสินทรัพย์ที่แต่ละบุคคลเป็นเจ้าของ แสดงถึงหนี้สินซึ่งบุคคลนั้นๆ มีภาระผูกพันต้องชำระคืนในอนาคต และความมั่งคั่งสุทธิที่เหลือในสินทรัพย์หลังจากชำระหนี้สินต่างๆ ครบถ้วนแล้ว ซึ่งถ้าเป็นความมั่งคั่งสุทธิที่วัดในเชิงธุรกิจจะเรียกว่า ส่วนของผู้ถือหุ้น (equity) ทั้งนี้สินทรัพย์ของแต่ละบุคคลอาจจำแนกได้ดังนี้คือ สินทรัพย์สภาพคล่อง (liquid assets หรือ monetary assets) สินทรัพย์เพื่อการลงทุน (investment assets) สินทรัพย์ใช้ส่วนตัว (personal possessions) และสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (intangible assets) ในขณะที่หนี้สินนั้นสามารถแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆ โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่จะถึงกำหนดใช้คืนจากน้อยไปหามาก ดังต่อไปนี้คือ หนี้สินหมุนเวียนซึ่งต้องชำระหนี้คืนภายใน 1 ปี และหนี้สินระยะยาวซึ่งมีกำหนดระยะเวลาชำระคืนเกินกว่า 1 ปี
กระบวนการวางแผนทางการเงินนอกจากจะต้องวิเคราะห์สถานะทางการเงินของบุคคลแล้ว ยังจะต้องพิจารณาความสามารถในการหารายได้ของบุคคล และความจำเป็นในการใช้จ่ายของบุคคล เพื่อที่จะกำหนดแผนการทางการเงินที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ โดยพยายามพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานะของแต่ละบุคคลและความสามารถในการออมกระแสเงินสดที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจากรายได้ที่บุคคลพึงหามาได้ ทั้งนี้การสำรวจแหล่งที่มาของรายได้และรายจ่ายของบุคคลเพื่อกำหนดปริมาณเงินออมที่เหมาะสม จะพิจารณาได้จากงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล
งบกระแสเงินสดส่วนบุคคลเป็นงบทางการเงินที่แสดงถึงกระแสเงินสดรับ (cash inflow) และกระแสเงินสดจ่าย (cash outflow) ในรอบระยะเวลาหนึ่ง โดยอ้างอิงจากเกณฑ์เงินสด (cash basis) ทั้งนี้กระแสเงินสดรับเป็นรายได้ซึ่งมีแหล่งที่มาจากการทำงานหรือการลงทุนต่างๆ โดยจะขึ้นอยู่กับหน้าที่การงานและอายุการทำงาน ในขณะที่กระแสเงินสดจ่ายเป็นรายจ่ายซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอายุ สถานภาพทางครอบครัว และพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคต่างๆ ถ้าหากแต่ละบุคคลมีการพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพย่อมจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน ทำให้กระแสเงินสดรับเพิ่มขึ้น และถ้าแต่ละบุคคลสามารถจำกัดการอุปโภคบริโภคให้เหมาะสม ก็จะส่งผลทำให้กระแสเงินสดจ่ายลดลงได้ ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวย่อมจะส่งผลทำให้กระแสเงินสดสุทธิเพิ่มขึ้น และในที่สุดจะส่งผลต่อความมั่งคั่งสุทธิของบุคคลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
กระแสเงินสดสุทธิที่ปรากฏในงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล จะมีความสัมพันธ์กับความมั่งคั่งสุทธิที่ปรากฏในงบดุลส่วนบุคคล โดยบุคคลที่มีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ก็จะสามารถนำกระแสเงินสดดังกล่าวไปออมหรือลงทุนเพิ่มเติม หรือบุคคลดังกล่าวอาจจะนำกระแสเงินสดสุทธิที่เป็นบวกดังกล่าวไปชำระคืนหนี้สิน ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่งคั่งสุทธิที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลาต่อไปนั่นเอง นอกจากนี้ข้อมูลจากงบดุลส่วนบุคคลและงบกระแสเงินสดส่วนบุคคลจะถูกนำมาวิเคราะห์สถานะทางการเงินของบุคคลเพื่อนำไปกำหนดแผนทางการเงินให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
เนื่องจากความสำคัญของงบทางการเงินส่วนบุคคลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การศึกษาในบทนี้จึงมุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดทำงบดุลส่วนบุคคล หรืองบแสดงความมั่งคั่งสุทธิส่วนบุคคล และงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล และมุ่งเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์สถานะทางการเงินของบุคคลจากการจัดทำงบทางการเงินดังกล่าว โดยจะเริ่มจากการทำความเข้าใจในการจัดทำงบดุลส่วนบุคคล หรืองบแสดงความมั่งคั่งสุทธิส่วนบุคคล พร้อมทั้งอธิบายการจัดการทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับแต่ละองค์ประกอบของงบดุลส่วนบุคคลดังกล่าว ทั้งในส่วนของสินทรัพย์และหนี้สิน หลังจากนั้นจึงจะเป็นการอธิบายวัตถุประสงค์และองค์ประกอบของงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล โดยจะอธิบายถึงแหล่งที่มาของกระแสเงินสดรับ และกระแสเงินสดจ่าย
วัตถุประสงค์ของหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 4 การรวบรวมข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล มีดังนี้
1. การรวบรวมข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล (personal financial data collection)
อธิบายถึงความสำคัญและประโยชน์ของข้อมูล วิธีการและทักษะในการรวบรวมข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล
อธิบายถึงการจำแนกประเภทของข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลเชิงคุณภาพ และข้อมูลเชิงปริมาณ
อธิบายการเก็บรวบรวมข้อมูลทั่วไปของบุคคล
อธิบายการเก็บรวบรวมข้อมูลในการจัดทำงบทางการเงินส่วนบุคคล ได้แก่ งบดุลส่วนบุคคล และงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล
อธิบายการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการลงทุน อธิบายการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการจัดการความเสี่ยงและการทำประกัน อธิบายการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการออมเพื่อวัยเกษียณ รวมทั้งอธิบายการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการวางแผนภาษี
งบดุลส่วนบุคคล (personal balance sheet)
อธิบายถึงงบดุลส่วนบุคคล วัตถุประสงค์ของการจัดทำงบดุลส่วนบุคคล และการใช้งาน อธิบายองค์ประกอบของงบดุลส่วนบุคคล ได้แก่ สินทรัพย์ (assets) หนี้สิน (liabilities) และความมั่งคั่งสุทธิ (net worth) และแสดงตัวอย่างการจัดทำงบดุลส่วนบุคคล และการวิเคราะห์สถานภาพทางการเงินส่วนบุคคล
งบกระแสเงินสดส่วนบุคคล (personal statement of cash flows)
อธิบายถึงงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล วัตถุประสงค์ของการจัดทำงบกระแสเงินสดส่วนบุคคลและการใช้งาน
อธิบายองค์ประกอบของงบกระแสเงินสดส่วนบุคคล ได้แก่ กระแสเงินสดรับ (cash inflows) และกระแสเงินสดจ่าย (cash outflows) พร้อมทั้งแสดงตัวอย่างการจัดทำงบกระแสเงินสดส่วนบุคค
องค์ความรู้ของหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 4 การรวบรวมข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล มีดังนี้
- ภาพรวมของข้อมูล
- ประเภทของข้อมูล
- ข้อมูลเบื้องต้น
- ข้อมูลงบทางการเงินส่วนบุคคล