ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

แนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับการวางแผนประกัน การวางแผนลงทุน การวางแผนเกษียณและการวางแผนภาษี

7 สิทธิประโยชน์ประกันสังคมมนุษย์เงินเดือน | คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร เจ็บป่วย พิการ ว่างงาน เกษียณ ตาย

การประกันตนและจ่ายเงินสะสมกับกองทุนประกันสังคมนั้น แบ่งได้ตามกฏหมายใน 3 ลักษณะดังนี้

โพสเมื่อ : 03 ก.ย. 2564
แก้ไขเมื่อ : 03 ก.ย. 2564
ThaiPFA CFP®

การรวบรวมข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล | หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 4 | ThaiPFA

การประกันตนและจ่ายเงินสะสมกับกองทุนประกันสังคมนั้น แบ่งได้ตามกฏหมายใน 3 ลักษณะดังนี้

1. การประกันตนภาคบังคับตามมาตรา 33 กำหนดให้มนุษย์เงินเดือนที่เป็นลูกจ้างบริษัทห้างร้านต่างๆต้องจ่ายเงินสมทบร้อยละ 5 ของเงินเดือน ทั้งนี้จำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานเงินเดือนในการคำนวณเงินสมทบและผลประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 1,650 บาท แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท

2. การประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 กำหนดให้คนที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือนและส่งเงินสมทบตามมาตรา 33 แต่ได้ออกจากงาน สามารถส่งเงินสมทบต่อด้วยตนเองในอัตรา 9% ของฐานเงินเดือนถูกกำหนดไว้ตายตัวเท่ากับ 4,800 บาทเท่านั้น คิดเป็นเงินที่นำส่งกองทุนประกันสังคมเดือนละ 432 บาท

3. การประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 40 กำหนดให้คนที่ทำงานเป็นฟรีแลนซ์ สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมด้วยการจ่ายเงินสมทบเพียงเดือนละ 70 บาท, 100 บาท หรือ 300 บาท ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่ากันในแต่ละทางเลือก

อยางไรก็ตามผู้ที่ประกันตนกับประกันสังคมในแต่ละมาตรา อาจได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกันไป วันนี้เราจะมาแนะนำ 7 สิทธิประโยชน์ของกองทุนประสังคมที่ครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญๆในชีวิตตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตายของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ดังนี้

1. กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนมีการคลอดบุตร สามารถเบิกได้ครั้งละไม่เกิน 15,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

2. กรณีสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท ต่อบุตร 1 คน แต่บุตรต้องมีอายุไม่เกิน 6 ปี และเบิกได้ครั้งละไม่เกิน 3 คน

3. กรณีอันตรายหรือเจ็บป่วย ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายใน ระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ จะได้รับความคุ้มครอง โดยสามารถได้รับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลที่เลือกเองได้ฟรี และขอรับทดแทนอีก 50% ของเงินเดือน  ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือนต่อปี เว้นแต่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เกิน 180 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน นอกจากนั้นยังสามารถขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด ในวงเงินรวมไม่เกิน 900 บาท/ปี

4. กรณีทุพพลภาพ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนทุพพลภาพ จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้

 ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน กรณีผู้ป่วยนอก เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท  ส่วนกรณีผู้ป่วยใน เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท

 ค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลรัฐบาล กรณีผู้ป่วยนอกเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ส่วนกรณีผู้ป่วยใน จ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรค (DRG) ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด

 ค่าพาหนะรับส่ง  เหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท

 เงินทดแทนการขาดรายได้เป็นรายเดือน กรณีระดับความสูญเสียไม่รุนแรง ร้อยละ 30 ของค่าจ้างตามมาตรา 57 ตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถประกอบการงานได้แต่ไม่เกิน 180 เดือน ส่วนกรณีระดับความสูญเสียรุนแรง ร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามมาตรา 57 เป็นรายเดือนตลอดชีวิต

5. กรณีว่างงาน ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีการส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือน  ก่อนการว่างงาน หากถูกเลิกจ้าง สามารถขอรับเงินเดือนจากประกันสังคมได้ครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 6 เดือนต่อปี แต่ถ้าหากผู้ประกันตนลาออกจากงานหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ได้รับเงินทดแทนการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างรายวัน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ไม่ว่าจะเป็น อัคคีภัย วาตภัย ธรณีพิบัติ ภัยธรรมชาติอื่นๆ การระบาดของโรคติดต่ออันตราย ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชน จะได้รับเงินทดแทนการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน

6. กรณีชราภาพ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เกษียณอายุ โดยมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่ส่งเงินสมทบไม่ถึง 15 ปี จะได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินที่สมทบบวกกับผลประโยชน์จากการลงทุน ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่เกษียณอายุ โดยมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และส่งเงินสมทบตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับบำนาญเดือนละ 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย และบวกเพิ่มให้อีกเดือนละ 1.5% ของเงินเดือนเฉลี่ย 5 ปีสุดท้ายสำหรับทุกๆ 1 ปีเต็มที่ได้ส่งเงินสมทบเกินกว่า 15 ปี

7. กรณีตาย ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนถึงแก่ความตาย จะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท ให้แก่ผู้จัดการศพ นอกจากนั้น หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบมาแล้ว ตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์แก่ทายาท เป็นจำนวน 4 เท่าของร้อยละ 50 ของค่าจ้าง และหากส่งเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินเป็นจำนวน 12 เท่าของร้อยละ 50 ของค่าจ้าง

นี้คือ 7  สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมสำหรับมนุษย์เงินเดือน

ผลิตภัณฑ์อื่นๆ
  • รู้จักพันธบัตรออมทรัพย์เราไม่ทิ้งกัน

    รู้จักพันธบัตรออมทรัพย์เราไม่ทิ้งกัน

  • ภาพรวม 10 อันดับผลการดำเนินงานกองทุนรวมแต่ละประเภท เดือน ตุลาคม 2564

    ภาพรวม 10 อันดับผลการดำเนินงานกองทุนรวมแต่ละประเภท เดือน ตุลาคม 2564

  • 10 อันดับกองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ที่น่าสนใจ | ผลการดำเนินงานกองทุนรวมครึ่งแรกของปี2564 กองทุนรวมไหนดี

    10 อันดับกองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ที่น่าสนใจ | ผลการดำเนินงานกองทุนรวมครึ่งแรกของปี2564 กองทุนรวมไหนดี