เครื่องมือทางการเงินในการบริหารสภาพคล่องส่วนบุคคล
หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 2
แก้ไขเมื่อ : 28 ก.พ. 2564
ในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ละบุคคลจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภค นับตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานและกลับที่พักอาศัย ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่นๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้โดยส่วนใหญ่เป็นค่าใช่จ่ายที่รู้ล่วงหน้าสามารถคาดการณ์ได้ แต่ในบางครั้งบุคคลก็อาจต้องใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ได้วางแผนหรือคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วยกะทันหัน การเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งการซื้อสินค้าที่ลดราคาซึ่งไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะทำการซื้อ เป็นต้น ในขณะที่รายรับโดยทั่วไปจะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงปลายเดือนเท่านั้น ยกเว้นในบางครั้งอาจมีรายได้บางส่วนซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน เช่น รายได้จากรางวัลหรือการชิงโชคต่างๆ เป็นต้น
จากข้อเท็จจริงที่กล่าวในเบื้องต้น จะเห็นได้ว่ากระแสเงินสดที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของแต่ละบุคคล จึงมีทั้งกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นจากการวางแผนทางการเงินที่ทราบหรือสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า และกระแสเงินสดที่ไม่ได้วางแผนหรือคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดสภาพคล่องของบุคคลดังกล่าวได้ และจำเป็นที่จะต้องอาศัยกระบวนการและวิธีการในการบริหารเงินสด (cash management) เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยทำให้บุคคลไม่เกิดปัญหาสภาพคล่อง และในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องมีการสำรองเงินสดไว้เกินความจำเป็น
การบริหารเงินสดเพื่อให้มีจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายที่จำเป็น ไม่มากจนก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส แต่ไม่น้อยจนเกิดการขาดแคลนในยามที่ต้องการใช้เงิน ทั้งนี้ทางเลือกหรือแนวทางในการบริหารเงินสดมีหลากหลายช่องทาง เช่น การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ การซื้อตั๋วเงินคลัง หรือการลงทุนในตลาดเงิน เป็นต้น ซึ่งการที่จะเลือกแนวทางใดในการบริหารเงินสดอาจพิจารณาได้จากปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้ อัตราผลตอบแทน อัตราภาษี และความเสี่ยง เป็นสำคัญ
วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการก่อหนี้หรือการบริหารสินเชื่อ คือ เพื่อตอบสนองต่อการบริโภค เพื่อความสะดวก หรือเพื่อการสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน โดยประเภทของสินเชื่อสามารถแบ่งออกได้เป็นสินเชื่อระยะสั้น ที่มีกำหนดระยะเวลาในการชำระคืนภายใน 1 ปี และสินเชื่อระยะยาวที่มีระยะเวลาในการชำระคืนนานเกินกว่า 1 ปี ทั้งนี้ผู้กู้ควรที่จะมีแนวทางในการบริหารสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถชำระเงินกู้คืนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด และควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ขั้นตอนของการกู้ยืมเงิน การจ่ายคืนเงินกู้ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขอกู้ยืมเงิน เป็นอย่างดี นอกจากนี้ควรที่จะรู้ถึงข้อดีและข้อเสียหรือข้อเปรียบเทียบระหว่างการซื้อและการเช่า สำหรับเป็นข้อมูลประเมินเพื่อการตัดสินใจ ที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามบุคคลที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ แทนที่จะซื้อสินค้าหรือบริการดังกล่าวโดยการใช้เงินทุนจากการขอสินเชื่อ บุคคลยังอาจจะใช้การเช่าเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการทดแทนการซื้อโดยการใช้สินเชื่อ การเช่าจึงอาจจัดได้ว่าเป็นเครื่องมือที่บุคคลสามารถจัดหาเงินทุนได้ทางอ้อมแทนการขอใช้สินเชื่อ
การศึกษาในบทนี้จึงเป็นการศึกษาถึงตราสารทางการเงินที่บุคคลสามารถนำมาใช้ในการบริหารสภาพคล่อง ทั้งในส่วนของการจัดการเงินสด (cash management) และการจัดการสินเชื่อ (credit management) ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงกระบวนการตัดสินใจเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียระหว่างการซื้อหรือการเช่า (buying or leasing) ในฐานะเป็นแหล่งที่มาของสภาพคล่องส่วนที่ขาด ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับกระบวนการวางแผนการเงินส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน
วัตถุประสงค์ของหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 2 เครื่องมือทางการเงินสำหรับการบริหารสภาพคล่องส่วนบุคคล มีดังนี้
- การบริหารเงินสด (cash management)อธิบายถึงความจำเป็นของการมีเงินสด เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ได้แก่ ใช้จ่ายทั่วไป (pocket money) สำรองใช้ยามฉุกเฉิน (emergency reserves) และรักษามูลค่า (store of value) อธิบายถึงหลักของการบริหารเงินสดที่จะต้องมีจำนวนเงินที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายที่จำเป็น ไม่ถือครองไว้มากจนก่อให้เกินต้นทุนค่าเสียโอกาส หรือน้อยจนขาดแคลนในยามที่ต้องการใช้เงิน โดยจะสัมพันธ์กับลักษณะเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย อธิบายประเภทของบัญชีเงินฝาก เช่น บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และบัญชีเงินฝากประจำ การเขียนเช็ค การตรวจเช็คยอดเงิน การคิดดอกเบี้ยเงินฝาก
- การจัดการสินเชื่อ (credit management) อธิบายความจำเป็นที่ต้องมีการก่อหนี้ เพื่อบริโภค (consumption) เพื่อความสะดวก (convenience) และสำรองฉุกเฉิน (contingency) อธิบายถึงข้อเสีย และข้อจำกัดของการก่อหนี้ การใช้สินเชื่อเกินความจำเป็น (excessive use of credit) ต้นทุนของสินเชื่อ (cost of credit) ประเภทของสินเชื่อ (types of credit) ทางเลือกในการใช้สินเชื่อแต่ละประเภท ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นและรายได้ เพื่อบริหารสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยปราศจากปัญหาในเรื่องของความไม่สามารถชำระหนี้คืน (default)
- สินเชื่อระยะสั้น (short-term credit) อธิบายลักษณะการใช้ ข้อดี และข้อจำกัดของสินเชื่อระยะสั้นแบบต่าง ๆ เช่น บัตรเครดิต วงเงินสินเชื่อบุคคล
- สินเชื่อระยะยาว (long-term credit) อธิบายประเภทของเงินกู้แบบต่าง ๆ วิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียของสินเชื่อระยะยาวแบบต่าง ๆ เช่น Variable rate, Fixed rate, Secured Loan และ Unsecured Loan
- อธิบายวิธีการและสิ่งจำเป็นสำหรับการขอกู้ยืมเงิน อธิบายวิธีการและการกรอกแบบฟอร์มข้อมูลต่าง ๆ เช่น Employment Details, Account Details, Guarantors, Collateral
- ผู้ยื่นขอกู้ อธิยายคุณสมบัติของผู้ยื่นขอกู้ และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วงเงินกู้หลักทรัพย์ หรือผู้ค้ำประกัน เป็นต้น
- การจ่ายคืน (terms of repayment) อธิบายเงื่อนไขการจ่ายคืนแบบต่าง ๆ ตามระยะเวลา เงินต้น และดอกเบี้ย โดยจะต้องสัมพันธ์กับข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ เช่น รายจ่าย รายได้ และภาระผูกมัดอื่น ๆ
- ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขอกู้ยืมเงิน บรรยายผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขอกู้ยืมเงิน เช่น Debtor Creditor, Bailor / Bailee, Principle / Agent และ Mortgagor/ Mortgagee อธิบายความจำเป็นที่ต้องรักษาความสัมพันธ์กับธนาคาร
3. การเช่า (leasing)ในบางครั้งบุคคลอาจไม่จำเป็นต้องมีการขอสินเชื่อ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่น ๆ ในการตัดสินใจเช่าแทน การซื้อ หัวข้อนี้จึงเป็นการอธิบายวิธีการซื้อหรือเช่า วิเคราะห์ความแตกต่าง เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียระหว่างการซื้อและการเช่า
4. การเลือกใช้บริการทางการเงินจากสถาบันการเงิน บรรยายการเลือกใช้บริการทางการเงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ อธิบายวิธีการเลือกใช้บริการจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ขั้นตอนการติดต่อธนาคารเพื่อบริหารสภาพคล่องของลูกค้า
องค์ความรู้ของหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 บทที่ 2 เครื่องมือทางการเงินสำหรับการบริหารสภาพคล่องส่วนบุคคล มีดังนี้
- การบริหารเงินสด
- เครื่องมือทางการเงินสำหรับการจัดการสินเชื่อ
- ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขอกู้ยืมเงิน
- การเช่า
- บริการทางการเงินจากสถาบันทางการเงิน
-
เปิดประตูสู่วิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP กับ หลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ชุดวิชาที่ 1 พื้นฐานการวางแผนการเงิน ภาษี และจรรยาบรรณ
-
วางแผนการเงินและปฎิบัติธรรมพร้อมๆกัน? รวยและสุข | ESG เทรนด์ใหม่การลงทุนอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องธรรมะ
-
ผู้รับคำปรีกษา ที่ใช้บริการ จากนักวางแผนการเงิน CFP รู้สึกมั่นใจและพึงพอใจอย่างมาก