allaboutFin

วางแผนการเงินกับอาจารย์ปิง | วางแผนภาษี 2564 ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบ้าง?

โพสเมื่อ : 18 ธ.ค. 2564
แก้ไขเมื่อ : 18 ธ.ค. 2564
WRITER : ThaiPFA CFP®

ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา?
 
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ผู้ที่มีสถานะตามที่กำหนดและได้รับเงินได้พึงประเมินตามลักษณะที่ระบุจากแหล่งในประเทศหรือนอกประเทศตามที่กฎหมายกำหนด
 
ทั้งนี้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอาจมีสถานะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

  1. บุคคลธรรมดา
  2. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
  3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
  4. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
  5. วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

 
บุคคลธรรมดาที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึง บุคคลที่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ทารกแรกเกิด เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ขอเพียงแค่ยังมีชีวิตอยู่ยังไม่ถึงแก่ความตาย หากมีเงินได้สุทธิถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
 
ผู้ถึงแก่ความตายที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึง ผู้ถึงแก่ความตาย ไม่ว่าจะเป็นระหว่างปีภาษี หรือก่อนยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี หากมีเงินได้สุทธิถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ถึงแก่ความตายต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนผู้ถึงแก่ความตาย
 
กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ในปีภาษีถัดจากปีที่บุคคลถึงแก่ความตาย ถ้าหากยังไม่ได้แบ่งมรดกให้กับทายาทคนใดคนหนึ่งโดยเด็ดขาด และกองมรดกดังกล่าวมีเงินได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ กองมรดกดังกล่าวก็ถือว่าเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยเช่นกัน โดยผู้จัดการมรดก ทายาท หรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดกต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทนผู้ถึงแก่ความตาย
 
ห้างหุ้นส่วนสามัญ หมายถึง บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำ ทั้งนี้ในทางปฏิบัติการตีความคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.149/2558 กรณีดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ เช่น

  1. การเข้าร่วมกันเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร
  2. การเข้าร่วมกันซื้อหุ้น
  3. การเข้าถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน
  4. การเข้าร่วมกันของแพทย์เพื่อทำกิจการรักษาคนไข้
  5. การเข้าร่วมกันของนักแสดงหรือพิธีกรในการรับงานแสดงหรือรับงานพิธีกร

                   
คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หมายถึงบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกันอันมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือก็คือไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น เช่น

  1. คณะกรรมการนักศึกษาจัดหาทุนเพื่อกระทำกิจกรรมในกลุ่มของตน
  2. คณะกรรมการจัดหาทุนเพื่อสร้างและปรับปรุงโบราณสถาน
  3. ชมรมแม่บ้านจัดกิจกรรมหาทุนเพื่อสร้างโรงพยาบาล

 
วิสาหกิจชุมชน หมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าวเพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชน และระหว่างชุมชน

  • รูปแบบของวิสาหกิจชุมชนประกอบด้วย บุคคลธรรมดา ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และนิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด
  • วิสาหกิจชุมชนรูปแบบบุคคลธรรมดาจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  
ผู้ที่อยู่ในข่ายเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้ง 5 สถานะดังกล่าวจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหากมีเงินได้พึงประเมินตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เงินได้พึงประเมินอาจอยู่ในลักษณะดังต่อไปนี้

  1. เงินตราไทยหรือเงินตราต่างประเทศที่คำนวณค่าเป็นเงินตราไทย
  2. ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เช่น รางวัลที่ได้รับจากการชิงโชค หุ้นที่ได้รับแจกจากบริษัท
  3. ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เช่น การอยู่บ้านของนายจ้างโดยไม่เสียค่าเช่า
  4. เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
  5. เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เช่น เครดิตภาษีเงินปันผล

 
ผู้ที่อยู่ในข่ายเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้ง 5 ประเภทที่มีเงินได้พึงประเมินถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจากแหล่งในประเทศและนอกประเทศดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

  1. ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นจากแหล่งในประเทศระหว่างปีภาษีที่ผ่านมา หรือก็คือปีปฏิทินที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม

ทั้งนี้เงินได้ที่เกิดจากแหล่งในประเทศ หมายถึง รายได้ที่เกิดจาก

  1. หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย
  2. กิจการที่ทำในประเทศไทย
  3. กิจการของนายจ้างในประเทศไทย
  4. ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า เป็นต้น

ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นจากแหล่งในประเทศไม่ว่าจะมีสัญชาติใด อาศัยอยู่ที่ไหน ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยเสมอ

  1. ผู้ที่นำรายได้ที่เกิดขึ้นจากแหล่งนอกประเทศเข้ามาในประเทศไทยระหว่างปีภาษีที่ผ่านมาและอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันในปีภาษีนั้น

ทั้งนี้เงินได้ที่เกิดจากแหล่งนอกประเทศ หมายถึง รายได้ที่เกิดจาก

  1. หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ
  2. กิจการที่ทำในต่างประเทศ
  3. ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

 
ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้กล่าวถึงข้างต้นที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับกรมสรรพากรด้วย
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ
ผู้ที่มีสถานะใดๆดังต่อไปนี้

  1. บุคคลธรรมดา
  2. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
  3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
  4. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
  5. วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

ซึ่งมีเงินได้พึงประเมินในลักษณะใดๆดังต่อไปนี้

  1. เงินตราไทยหรือเงินตราต่างประเทศที่คำนวณค่าเป็นเงินตราไทย
  2. ทรัพย์สินซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
  3. ประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
  4. เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้
  5. เครดิตภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งมีแหล่งเงินได้ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดดังนี้

ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นจากแหล่งในประเทศระหว่างปีภาษีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะมีสัญชาติใด อาศัยอยู่ที่ไหน จาก                                             

  1. หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย
  2. กิจการที่ทำในประเทศไทย
  3. กิจการของนายจ้างในประเทศไทย
  4. ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

ผู้ที่อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 180 วันระหว่างปีภาษีที่ผ่านมาและนำรายได้ที่เกิดขึ้นจากแหล่งนอกประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้น จาก     

  1. หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ
  2. กิจการที่ทำในต่างประเทศ
  3. ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ
ผลิตภัณฑ์อื่นๆ
  • ThaiPFA ภูมิใจนำเสนอผลสำรวจ Passing Rate ข้อสอบหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ฉบับที่ 1

    ThaiPFA ภูมิใจนำเสนอผลสำรวจ Passing Rate ข้อสอบหลักสูตรการวางแผนการเงิน CFP ฉบับที่ 1

  • คุณสมบัติของนักวางแผนการเงิน CFP ที่ได้รับการให้คะแนนสูงสุดจากลูกค้า

    คุณสมบัติของนักวางแผนการเงิน CFP ที่ได้รับการให้คะแนนสูงสุดจากลูกค้า

  • เปิดประตูสู่วิชาชีพ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT และนักวางแผนการเงิน CFP

    เปิดประตูสู่วิชาชีพ ที่ปรึกษาการเงิน AFPT และนักวางแผนการเงิน CFP