allaboutFin

วางแผนการเงินกับอาจารย์ปิง | ลดหย่อนภาษีผ่าน ประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบบำนาญ และประกันสุขภาพ อย่างไร

โพสเมื่อ : 18 ธ.ค. 2564
แก้ไขเมื่อ : 18 ธ.ค. 2564
WRITER : Thai Professional Fianance Academy CFP®

ลดหย่อนภาษีผ่าน ประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบบำนาญ และประกันสุขภาพ มีเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ต่างกันอย่างไร?
 
หลายคนที่กำลังมองหาแนวทางในการลดหย่อนภาษี วางแผนการเงินกับอาจารย์ปิงวันนี้ ผมจะมาแนะนำอีก 1 แนวทางที่เราสามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ผ่านการวางแผนประกัน วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจว่าประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบบำนาญ และประกันสุขภาพมีเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีต่างกันอย่างไร

การหักค่าลดหย่อนกรมธรรม์ประกันชีวิต
สิทธิประโยชน์กรมธรรม์ประกันชีวิต

  • ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และได้รับยกเว้นเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท รวมแล้วจึงสามารถยกเว้นและลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  • ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยดังกล่าวได้ กรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม

เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันชีวิตที่สามารถหักลดหย่อนภาษี

  • กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป และต้องทำประกันชีวิตไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในไทย
  • กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
    • กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หรือ
    • กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนด ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดให้มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน
    • ผลรวมของเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนดังกล่าว ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้รับตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแล้ว แต่ผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์

  • กรณีผู้มีเงินได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว ต่อมาไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่ม


การหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
สิทธิประโยชน์กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ

  • เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ เงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการออม ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
  • กรณีเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียวหรือแบบบำนาญและแบบอื่นด้วย แต่เบี้ยประกันชีวิตยังไม่ถึง 100,000 บาท เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่จ่ายนั้นสามารถนำไปลดหย่อนและยกเว้นได้ทั้งเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ
  • กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร
  • การจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญกำหนดเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจำนวนผลประโยชน์เงินบำนาญดังกล่าว จะจ่ายเท่ากันทุกงวด หรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการเอาประกันก็ได้ โดยการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญจะจ่ายตามการทรงชีพที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน และกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปี ขึ้นไป ถึงอายุ 85 ปี หรือกว่านั้น และผู้มีเงินได้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ


การหักลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ
สิทธิประโยชน์กรมธรรม์ประกันสุขภาพ

  • เบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท เริ่มตั้งแต่ปีภาษี2563 เป็นต้นไป
  • เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดาสามารถหักลดหย่อนตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท

เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันสุขภาพ

  • การประกันสุขภาพต้องมีลักษณะดังนี้

1.   การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
2. การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
3. การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
4. การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
 
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบบำนาญ และประกันสุขภาพ จะมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจให้หลายๆคนหันมาสนใจที่จะวางแผนประกัน แต่ผมอยากให้เรามองภาพกว้างขึ้นว่าการวางแผนการประกันนั้นเป็นการวางแผนเพื่อคุ้มครองความมั่งคั่งไม่ใช่เพียงแค่หวังในสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งนี้การวางแผนการเงินที่จะทำให้ชีวิตของเรามีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมาย และมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น และมีความมั่นคงในชีวิต จะต้องบูรณาการร่วมกันระหว่างการวางแผนสภาพคล่อง การวางแผนประกัน การวางแผนลงทุน การวางแผนเกษียณ และการวางแผนภาษีและมรดก ติดตามวางแผนการเงินกับอาจารย์ปิงในตอนต่อๆไปว่าเราจะมีสาระดีๆอะไรมานำเสนอเพื่อช่วยทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นอีกได้บ้างครับ

ผลิตภัณฑ์อื่นๆ
  • คุณสมบัติของนักวางแผนการเงิน CFP ที่ได้รับการให้คะแนนสูงสุดจากลูกค้า

    คุณสมบัติของนักวางแผนการเงิน CFP ที่ได้รับการให้คะแนนสูงสุดจากลูกค้า

  • มาร่วมกันทำให้ชีวิตของคนไทย มีชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่งคั่งมั่นคงอย่างยั่งยืน

    มาร่วมกันทำให้ชีวิตของคนไทย มีชีวิตที่ดีขึ้น มีความมั่งคั่งมั่นคงอย่างยั่งยืน

  • อยากเป็นนักวางแผนการเงิน CFP ต้องทำยังไงบ้าง ?

    อยากเป็นนักวางแผนการเงิน CFP ต้องทำยังไงบ้าง ?